เมื่อพูดถึง “ขยะ” หลายคนคงจะทำคอย่น ปิดจมูก และเบือนหน้าหนี ทั้ง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดขยะ ปัจจุบันปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สําคัญของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปีตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
ในขณะที่อัตราของขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และอัตราขยะมูลฝอยที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เราทุกคนล้วนเป็นตัวการผลิตขยะ ขยะที่เราสร้างขึ้นเฉลี่ย 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน ทั่วประเทศคิดเป็น 75,046 ตัน/วัน (ปี 2560) หรือ 27.40 ล้านตัน/ปี มีเพียง 43% หรือ 11.70 ล้านตันต่อปี มีการกำจัดอย่างถูกต้อง 31% หรือ 8.52 ล้านตัน/ปี มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ และ 26% หรือ 7.18 ล้านตัน/ปี มีการกำจัดไม่ถูกต้อง
มีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 45,000 ล้านใบ/ปี ทั้งจากตลาดสด ห้างสรรพสินค้า และร้านขายของชำ โฟมบรรจุอาหารจำนวน 6,758 ล้านใบ/ปี แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว จำนวน 9,750 ล้านใบ/ปี ซึ่งพลาสติกและโฟมเหล่านี้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก เมื่อไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องภายหลังจากการนำมาใช้แล้ว ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล และมีแนวโน้มในการเกิดการรั่วไหลของสารปรุงแต่งหรือสารประกอบที่ใช้ในการผลิตพลาสติกและโฟม ซึ่งอาจเป็นพิษและส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
ในปี 2557 ได้ระบุให้การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งดําเนินการบริหารจัดการ โดยกำหนดให้การจัดการขยะมูลฝอยที่ตกค้างสะสมหรือขยะเก่าเป็นหนึ่งใน roadmap ด้านการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เพื่อลดมลพิษที่เกิดจากการตกค้างของขยะมูลฝอยในสถานที่กําจัดขยะมูลฝอยที่ดําเนินการอย่างไม่ถูกต้องให้หมดไป รวมทั้งให้มีแผนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตามกรอบยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ ได้แก่ การกำจัดขยะมูลฝอยเก่าที่ตกค้าง การสร้างรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นใหม่อย่างเหมาะสม อาทิ การกำหนดพื้นที่กำจัดของเสียอันตรายโดยเฉพาะ การส่งเสริมการจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม
นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย สร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้นแบบ เป็นโครงการ 1 จังหวัด 1 อปท.ต้นแบบ เพื่อรณรงค์มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางหรือตั้งแต่บ้านเรือน ในหน่วยงานภาครัฐเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ภาคเอกชนและประชาชน ในการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
และยังส่งเสริมภาคเอกชนในการลงทุนเพื่อผลิตพลังงาน ตลอดจนการวางระเบียบ และมาตรการการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยร่างกฎหมายและพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า และขยะจากอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างวินัยคนในชาติเพื่อการจัดการที่ยั่งยืน เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น
จากนโยบายของภาครัฐสู่แผนปฏิบัติการเพื่อจัดการปัญหาขยะมูลฝอยในระดับจังหวัด มีการสนับสนุนงบประมาณโครงการในการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น โรงงานคัดแยกขยะและทำปุ๋ยชีวภาพ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เตาเผาขยะมูลฝอย พบว่ามีโครงการที่ประสบปัญหาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ สาเหตุมาจากความไม่เหมาะสมของสภาพพื้นที่ การทำความเข้าใจกับประชาชนโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง ปัญหาการขาดศักยภาพ ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย และปัญหาการเมืองในท้องถิ่น ทําให้สถานที่กําจัดขยะมูลฝอยไม่สามารถดําเนินการก่อสร้างหรือเปิดดำเนินงานได้
“การจัดการขยะดี เทคโนโลยีดี แต่ขอให้ไปทำที่อื่น” นี่อาจจะเป็นเพราะยังไม่เข้าใจถึงผลดีในภาพรวมที่จะทำให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวมของชุมชนและประเทศ ส่งผลทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่สามารถก่อสร้างหรือเปิดดำเนินการได้
สิ่งสำคัญในการดำเนินโครงการ คือ กระบวนการทางด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน การสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและชุมชนโดยรอบพื้นที่โครงการเกี่ยวกับเหตุผล ความจำเป็น และมาตรการจัดการเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ
โดยดำเนินการตั้งแต่ช่วงก่อนการก่อสร้างโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจของประชาชนต่อระบบการบริหารจัดการ ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการโครงการจัดการขยะมูลฝอย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายตามแผนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ
ปัญหาขยะกลายเป็นวาระแห่งชาติ การจัดการขยะถือเป็นหน้าที่ของทุกคน และต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยเฉพาะการแก้ที่ต้นทาง จิตสำนึกในการรู้จัก ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ จิตสำนึกในการทิ้งขยะรวมไปถึงการจัดการขยะ ซึ่งถือเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดในกระบวนการจัดการมูลฝอยแบบบูรณาการ
เข้าชม : 699
|