ประวัติกศน.ตำบลหนองปากโลง
ความเป็นมาของชุมชน
ในอดีตนั้นมีหนองใหญ่อยู่ในหมู่บ้าน เป็นที่สาธารณประโยชน์ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ ตั้งอยู่บริเวณที่ดินของ นายจำรัส สุวรรณนที เล่ากันต่อมาว่า เรียกหนองน้ำนั้นว่าหนองอีโรง เป็นหนองน้ำใหญ่ มีต้นสำโรงใหญ่ขึ้นอยู่บริเวณหนองน้ำมีฝูงนกเป็ดน้ำฝูงใหญ่ มาลงอาศัยอาหารกินในหนองน้ำเป็นประจำ – มีหนองน้ำ- มีต้นสำโรง- มีนกเป็ดน้ำ
ในหมู่บ้านครั้งนั้นมีคนจีนพูดภาษาไทยไม่ชัด หลายครอบครัว อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน วันหนึ่งมีคนจีนที่กล่าวนั้นได้มาติดต่อหน่วยราชการอำเภอ แจ้งเรื่องของทะเบียนบ้านที่เจ้าหน้าที่จะต้องลงบันทึกในเอกสารสำคัญ เจ้าหน้าที่บุคคลนั้นถามคนจีนคนนั้นว่า อยู่ที่ไหน คนจีนท่านนั้นอยู่บ้านหนองเป็ดลง (พูดไม่ชัด ) เจ้าหนี้ที่ฟังว่า หนองปากโลง จึงลงบันทึกในเอกสารเป็นมาจนทุกวันนี้ว่าบ้านหนองปากโลง คือประวัติบ้านหนองปากโลง
จุดเด่นของหมู่บ้านปัจจุบัน
ในอดีตส่วนใหญ่ราษฎรในหมู่บ้าน มีอาชีพทำนาเป็นหลัก หลักจากเสร็จจากทำนา ยามว่างในเทศกาล ต่าง ๆ ราษฎรจะร่วมกันมีการละเล่นต่าง ๆ เช่นร้องเพลงพื้นบ้าน , เล่นลูกช่วง, มอญซ่อนผ้า , วิ่งเปี้ยว ,ตี่จับ และอื่น ๆ เป็นส่วนหนึ่งในอดีต
ปัจจุบันนี้อาชีพหลักของราษฎรในหมู่บ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตรเป็นอันดับหนึ่ง จุดเด่นการเกษตรของราษฎรในหมู่บ้าน คือการเลี้ยงปลากัดสี (จีน ) ส่วนใหญ่ราษฎรในหมู่บ้านจะมีอาชีพค่อนข้างมาก มีการเลี้ยงกันเป็นจำนวนล้านกว่าตัว เป็นปลากัดสี ที่ส่งออกต่างประเทศและเป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้าน ปลากัดสีเป็นจุดเด่นของหมู่บ้านหนองปากโลง เพราะเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ดีต่อราษฎร
บุคคลสำคัญในหมู่บ้านหนองปากโลง
บุคคลที่สำคัญในหมู่บ้าน ณ เวลานี้ไม่มีบุคคลใดเป็นบุคคลสำคัญ ส่วนใหญ่คือเสมอภาคกัน ราษฎรในหมู่บ้านจะอยู่รวมกันอย่างมีความสุข มีความรักสามัคคี จะการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นับว่าเป็นหมู่บ้านอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน ไม่มีใครในหมู่บ้านจะมองตนเองสำคัญกว่าคนอื่นให้ความสำคัญเท่าเทียมกัน
สภาพชุมชน
ปัจจุบัน กศน.อำเภอเมืองนครปฐมได้จัดตั้ง เลขที่ 10/4 หมู่ที่ ๓ ของตำบลหนองปากโลง เป็นศูนย์การเรียนรู้ของตำบลศูนย์การเรียนชุมชนตำบลหนองปากโลงได้เปิดบริการให้กับประชากรในชุมชนตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๑ โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนบ้านหนองปากโลงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษา ทั้ง ๓ ระดับ คือระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ภายใต้การควบคุมดูแลของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเมืองนครปฐม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคณะครูโรงเรียนบ้านหนองปากโลงและองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นอย่างดี
ต่อมา ในปี ๒๕๔๖ ได้ย้ายสถานที่จากโรงเรียนบ้านหนองปากโลงมาดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมอื่น ๆ มาเป็นบริเวณศูนย์บำบัดยาเสพติดที่ตั้งอยู่ในบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปากโลง ทั้งยังได้ประสานงานกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปากโลง , ชุมชนและองค์กรนักศึกษารวมทั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครปฐมและศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเมืองนครปฐมในการจัดทำโครงการร่วมเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมทางการศึกษานอกระบบ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนในการพัฒนาศูนย์การเรียนชุมชนให้เป็นแหล่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาที่ทันสมัยและก้าวทันยุคโลกาภิวัฒน์ในด้านการสื่อสารไร้พรมแดน
ตำบลหนองปากโลง ได้ปรับเปลี่ยน กศน.ตำบลหนองปากโลง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ รัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้ง กศน.ตำบลขึ้น เพื่อให้กศน.ตำบลเป็นกลไกที่มีศักยภาพในการนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๖๑ ) โดยมุ่งให้ กศน.ตำบลสร้างแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ให้เกิดอย่างมีคุณภาพเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชนให้มีคุณภาพ ดังนั้นจึงมีการยกฐานะ จาก ศูนย์การเรียนชุมชน เป็น กศน.ตำบล และศูนย์การเรียนชุมชนตำบลหนองปากโลง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กศน.ตำบลหนองปากโลง และได้เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๓
ปัจจุบัน กศน.ตำบลหนองปากโลง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ นางสาวนฤมล มูลทองชุนได้ใช้สถานที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองปากโลงเป็นสถานที่พบกลุ่มนักศึกษาทุกระดับโดยมีการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในการใช้สื่ออีเล็คโทรนิคส์ การสอนเสริม การทัศนศึกษาและการเข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการต่าง ๆ ทั้งของสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนครปฐม ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองนครปฐม และเครือข่ายที่ขอความร่วมมือมา เพื่อแสดงถึงความมีมนุษย์สัมพันธ์และประชาสัมพันธ์งานของการศึกษานอกระบบให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ทั้งยังได้พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบของศูนย์การเรียนเพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนรวมทั้งเป็นที่ชื่นชอบของบุคคลที่ผ่านไปมา
จากแนวคิดในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยการมีส่วนร่วมและเรียนรู้ร่วมกันของประชาชน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่ความเข้มแข็ง กศน.อำเภอเมืองนครปฐม ได้คัดเลือกหมู่บ้านหนองปากโลง หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองปากโลง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน จะมีการร่วมประชุมประชาคมเพื่อหาค้นหาปัญหาความต้องการของหมู่บ้าน แนวทางแก้ไขและพัฒนา โดยผู้นำภาครัฐ องค์กรชุมชน หน่วยบริการสาธารณูปโภค และภาคเครือข่าย เข้าร่วมประชุมประชาคม เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตามโครงการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มการเรียนรู้และวิเคราะห์ว่าอะไรคือสาเหตุของความยากจน มีการกำหนดกิจกรรมร่วมกันและได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้แก้ปัญหา มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง กศน.อำเภอเมืองนครปฐม และชุมชน ดังนี้
๑. จัดกระบวนการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในส่วนนี้ กศน.อำเภอเมืองนครปฐม ได้แนะแนวทางการนำไปสู่การปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิต ทั้งด้านการพัฒนาจิตใจให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม สามัคคี เสียสละเพื่อส่วนร่วม ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน การใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์ การทำบัญชีรับจ่ายในครัวเรือน การลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยการทำผลิตภัณฑ์ครัวเรือนใช้เอง การเพิ่มรายได้จากวัสดุในท้องถิ่น เช่น การทำอาหารขนม การสานตะกร้าจากสานรัดพลาสติก โดยน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการตัดสินใจ ดำเนินธุรกิจของกลุ่มอย่างสอดคล้องกับ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข
๑) ด้านความพอประมาณ สมาชิกดำเนินธุรกิจโดยใช้หลักสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการกลุ่ม ส่งผลให้สมาชิกมีการออมเงินใช้จ่ายอย่างประหยัด และนำหลักการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายไปใช้ในครัวเรือน
๒) ด้านความมีเหตุผล สมาชิกมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาหลักการบริหารจัดการกลุ่มอย่างมีเหตุผลและนำข้อมูลจากการประชุมมาใช้เป็นฐานในการตัดสินใจหรือป้องกันแก้ไข หากการดำเนินงานบางอย่างผิดพลาดไม่เป็นไปตามเป้าหมายของกลุ่ม
๓) ด้านภูมิคุ้มกัน สมาชิกมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม เพื่อนำความรู้มาแลกเปลี่ยน ปรับปรุงและพัฒนาผลงานให้ดีขึ้น พร้อมทั้งหาแนวโน้มในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
๔) เงื่อนไขด้านความรู้ สมาชิกมีการศึกษาเรียนรู้จากกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและส่งเสริมให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจของตนเอง ทั้งนี้ผู้เรียนต้องนำความรู้ที่ได้มาประกอบการตัดสินใจ ความรู้ดังกล่าวได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับตนเอง ความรู้เกี่ยวกับวิชาการและความรู้เกี่ยวกับสังคม
๕) เงื่อนไขด้านคุณธรรม สมาชิกกลุ่มมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ตรงต่อเวลา เคารพกฎกติกาของกลุ่ม มีความรับผิดชอบ
๒. ส่งเสริมให้เกิดแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาชุมชน กศน. อำเภอเมืองนครปฐม ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือ สนับสนุนของภาคีเครือข่าย ซึ่งนอกจากเป็นการเสริมสร้างพลังในการพัฒนา ความสามัคคี ทั้งกลุ่มเป้าหมาย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายแล้ว ยังเป็นการระดมทรัพยากรในทุกๆ ด้านมาช่วยในการพัฒนาให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย ประกอบกับความเข้มแข็งของหมู่บ้านคลองใหม่ ที่เริ่มการพัฒนาจากกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ของหมู่บ้านเอง โดยการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ส่งเสริมการศึกษา การส่งเสริมและพัฒนาทักษะในการดำเนินชีวิต การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านหนองปากโลงเป็นแกนนำทั้งด้านความคิดและการลงมือปฏิบัติ จึงทำให้คนในหมู่บ้านมีความเชื่อมั่นและมีความสามัคคีในหมู่คณะ ชาวบ้านร่วมกันพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ และใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้ชุมชนสามารถจัดตั้งแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น โดยมี ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหนองปากโลง เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาของกลุ่มๆต่างๆ ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มอาชีพการสานตะกร้าจากสายรัดพลาสติก จนกลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหนองปากโลง ได้พัฒนาตนเองเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน โดยมีการศึกษาดูงานจากประสบการณ์ของหมู่บ้านอื่น ๆ ที่พัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จ และนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง และได้มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการศูนย์การเรียนรู้ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมของศูนย์ ประกอบกับเป็นศูนย์การในการให้บริการด้านสื่อต่าง ๆ เช่น อินเตอร์เน็ตตำบล รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาโดยชุดรับสัญญาณทางไกลระบบ อีทีวี นอกจากนั้นภายในศูนย์การเรียนรู้ยังมีการจัดกิจกรรมภายในศูนย์ ให้เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ทั้งกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ กิจกรรมของภาคีเครือข่าย การประชุมของชุมชน โดยมีแหล่งเรียนรู้ที่เชื่อโยง ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเพื่อออมเงินและเป็นเงินทุนของคนในหมู่บ้าน กลุ่มผู้เลี้ยงปลากัดสี กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปรรูปการเกษตร จุดเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยด้านการเกษตร ซึ่งมีเครือข่าย ประชาชนทั่วไปและนักศึกษาเข้ามาศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
เข้าชม : 2193 |