“ใหลตาย” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตฉับพลันที่สำคัญสาเหตุหนึ่งของประเทศไทย โรคใหลตายเป็นโรคทางพันธุกรรม ผู้ป่วยโรคใหลตายมักเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เราพบภาวะไหลตายเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง ทั้งที่ไม่เสียชีวิตและเสียชีวิต พบราว 10% โดยพบมากขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 65 ปี และมักพบในประชากรภาคอีสานมากที่สุด ในอดีตเคมีคนเรียกโรคนี้ว่าโรค “ผีแม่หม้าย” เนื่องจากผู้เสียชีวิตมักเป็นผู้ชายวัยทำงาน การเสียชีวิตเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ จึงมีการตั้งชื่อโรคในปัจจุบันว่าโรค “ใหลตาย”
การเสียชีวิตฉับพลันของโรค “ใหลตาย” เกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ โดยเกิดการเต้นพริ้วทำให้ไม่มีการบีบตัวของหัวใจ ทำให้ร่างกายและสมองขาดเลือดและออกซิเจนกะทันหัน เป็นผลให้แขนขาเกิดอาการเกร็งและหายใจเสียงดังจากการมีเสมหะในหลอดลม บางรายมีอุจจาระปัสสาวะราด จากการสูญเสียการควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ในบางรายที่หัวใจห้องล่างเต้นพริ้วหยุดเอง ผู้ป่วยอาจจะมาพบแพทย์ด้วยอาการหน้ามืดหมดสติแล้วฟื้นตื่นเอง หรือญาติอาจสังเกตว่ามีหายใจเฮือกตอนนอนหลับ อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องล่างเต้นพริ้วในผู้ป่วยใหลตายนี้มักเป็นขณะพัก โดยเฉพาะเวลานอนหลับ
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดหัวใจห้องล่างเต้นพริ้วหรือโรคใหลตาย คือการมีไข้สูง การสูญเสียเกลือแร่โปรตัสเซียม แมกนีเซียมออกจากร่างกาย เช่น จากการอาเจียน ท้องร่วง กินยาขับปัสสาวะ การดื่มสุราปริมาณมาก การเสพย์กัญชาในทุกรูปแบบ และการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (ข้าวเหนียว) ในปริมาณมาก เนื่องจากโรคใหลตายเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในญาติพี่น้องของผู้ป่วยโรคใหลตาย เพื่อตรวจคัดกรองโรค
วิธีป้องกันการเสียชีวิตฉับพลันในผู้ป่วยโรคใหลตาย คือ หากมีไข้ควรรับประทานยาลดไข้ เช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หากท้องเสียหรืออาเจียนปริมาณมาก ควรรีบดื่มเกลือแร่ทดแทนเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโปตัสเซียมต่ำ ไม่ทานข้าวเหนียวปริมาณมากๆโดยเฉพาะมื้อเย็น และกรณีตรวจพบว่าหัวใจห้องล่างเต้นพริ้วหรือเคยรอดชีวิตจากโรคใหลตายมาแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตจากการเกิดหัวใจห้องล่างเต้นพริ้วซ้ำอีกด้วย
ข้อมูลโดย : หน่วยวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เข้าชม : 306
|