ตะไคร้เป็นสมุนไพรไทยที่มีมาแต่โบราณ มีสรรพคุณใช้เป็นยารักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอากาศหนาวแบบนี้ หากใครเริ่มมีริมฝีปากแห้งแตก วันนี้เรามีวิธีทำน้ำตะไคร้ดื่มแก้อาการดังกล่าวมาฝากกัน
อันดับแรกไปทำความรู้จักกับลักษณะทั่วไปของพืชมากสรรพคุณชนิดนี้กันก่อน ตะไคร้มีชื่อเรียกตามภาคต่าง ๆ ในประเทศไทยแตกต่างกันไป อาทิ ตะไคร้แกง (ภาคกลาง) จะไคร้ (ภาคเหนือ) ไคร ไพเล็ก (ภาคใต้)คาหอม (ฉาน, เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) และหัวไคสิง (เขมร-ปราจีนบุรี) ลักษณะทั่วไปของ ต้นเป็นพรรณไม้ล้มลุก ขึ้นเป็นกอใหญ่ สูงประมาณ1 เมตร ลักษณะของลำต้นเป็นรูปทรงกระบอก แข็ง เกลี้ยง และตามปล้องมักมีไขปกคลุมอยู่
ใบเป็นใบเดี่ยวแตกใบออกเป็นกอ รูปขอบขนานปลายใบแหลมและผิวใบจะสากมือทั้งสองด้าน เส้นกลางใบแข็ง ขอบใบจะมีขนขึ้นอยู่เล็กน้อย มีสีเขียวกว้างประมาณ2 ซม. ยาวประมาณ 2-3 ฟุตดอกออกเป็นช่อกระจาย ช่อดอกย่อยมีก้านออกเป็นคู่ ๆ ในแต่ละคู่จะมีใบประดับรองรับ
สรรพคุณของตะไคร้เริ่มจากใบโดยใบสด ๆ จะช่วยลดความดันโลหิตสูง แก้ไข้ ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคหืด แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะและแก้อหิวาตกโรค หรือทำเป็นยาทาถูนวดก็ได้และยังใช้รวมกับสมุนไพรชนิดอื่นรักษาโรคได้ เช่น บำรุงธาตุ เจริญอาหารและขับเหงื่อ หัวเป็นยารักษาเกลื้อนแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะพิการแก้นิ่ว บำรุงไฟธาตุ แก้อาการขัดเบาลดความดันสูง แก้ลมอัมพาต แก้กษัยเส้นและแก้ลม ต้นใช้เป็นยาแก้ขับลมแก้เบื่ออาหาร แก้ผมแตก แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่ว เป็นยาบำรุงไฟธาตุให้เจริญ รากใช้เป็นยาแก้ไข้เหนือปวดท้องและท้องเสีย
สำหรับวิธีทำน้ำตะไคร้แก้ปากแตก ปากแห้งให้ใช้ต้นตะไคร้สดแก่ๆ ประมาณ 1 กำมือ ทุบพอแหลกต้มกับน้ำประมาณ 1 ลิตร กรองเอาแต่น้ำ ดื่มแทนน้ำเปล่าได้ทั้งวัน เพราะมีสรรพคุณแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำและช่วยแก้ริมฝีปากแห้งแตกได้อีกด้วย รู้แบบนี้แล้วใครที่เจออากาศเย็น ๆ แล้วริมฝีปากแห้งแตก ลองนำสูตรนี้ไปทำน้ำตะไคร้ดื่มดูนะคะ รับรองว่าส่งผลดีต่อสุขภาพมากมายทีเดียว
เข้าชม : 324
|