[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 


เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : บทความทั่วไป
หัวข้อเรื่อง : นอนกรน ภัยใกล้ตัวอันตรายถึงชีวิต !

จันทร์ ที่ 4 เดือน กันยายน พ.ศ.2566

คะแนน vote : 26  

 

นอนกรน อันตรายหรือไม่ ?

  1. การกรนธรรมดา (primary snoring) และกลุ่มอาการทางเดินหายใจส่วนบนมีแรงต้าน (UPPER airway resistance syndrome) คือ อาการนอนกรนที่เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน อาจพบอาการหยุดหายใจขณะหลับได้แต่ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดในการวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
  2. การนอนกรนที่อันตราย คือ อาการนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับถึงเกณฑ์ที่กำหนดในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea – OSA) เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนที่ตีบแคบมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหยุดหายใจไปชั่วขณะ ทำให้อากาศผ่านได้น้อยลง โดยจะมีอาการนอนกรนเสียงดังแล้วหยุดเงียบไปชั่วระยะเวลาหนึ่งบางคนจะมีการสะดุ้งหายใจเฮือกขึ้นมาตอนกลับมาหายใจอีกครั้ง

โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) กับการนอนกรน

โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นหากเป็นมากอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ เพราะอาจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในจังหวะที่หยุดหายใจ ในขณะนอนหลับอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังหยุดหายใจ การนอนกรนเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยคนที่นอนกรนมีโอกาสพบภาวะหยุดหายใจขณะหลับเพิ่มมากขึ้น หากมีอาการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ถ้าเป็นมากและไม่รีบรับการรักษาอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันเลือดสูง หัวใจล้มเหลว หัวใจเสียจังหวะ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี ต้อหิน กรดไหลย้อน โรคตับ ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และสมรรถภาพทางเพศลดลงได้

ผลเสียของการ นอนกรน

การนอนกรนธรรมดาที่ไม่ได้เกิดร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจไม่เป็นอันตราย แต่เสียงกรนอาจทำให้ผู้ที่นอนด้วยนอนหลับยากจนเกิดปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือคนใกล้ชิด แม้จะบอกว่าอาจไม่มีอันตรายแต่การนอนกรนเป็นประจำก็ทำให้หายใจลำบาก อาจเจ็บคอจากการนอนกรนได้ จึงควรเข้ารับการรักษาและหาสาเหตุอย่างถูกต้อง

ปัจจัยเสี่ยงของอาการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ?

เช่น

  • กล้ามเนื้อในช่องคอหย่อนหรือตีบแคบผิดปกติ ไปอุดกั้นช่องทางเดินหายใจส่วนบน
  • อ้วน มีไขมันในช่องคอมาก
  • มีก้อนในช่องทางเดินหายใจ เช่น ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต เป็นสาเหตุหลักของการนอนกรนและเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • รับประทานยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาท 
  • มีช่องคอแคบโดยกำเนิดหรือมีโครงหน้าที่เป็นอุปสรรคต่อทางเดินหายใจ เช่น คางถอย โคนลิ้นใหญ่ ช่องจมูกคด เทอร์บิเนตโตเกิน
  • กลุ่มเสี่ยงที่อาจพบการกรนและหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

    เช่น

    • ผู้ที่มีโรคทางหัวใจ อัมพาต ความดันเลือดสูง (ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนมาจากโรคกรนและหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น)
    • โรคภูมิแพ้
    • พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
    • เพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน
    • ผู้ที่มีคางถอยผิดปกติ
    • โครงสร้างของช่องจมูกแคบ เช่น สันจมูกคด เทอร์บิเนตโตขึ้น
    • น้ำหนักเกินมาตรฐานทำให้ทางเดินหายใจแคบ
    • รับประทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยานอนหลับ หรือยาระงับประสาทหรือยาระงับความรู้สึก
    • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ

    ผู้หญิงกับอาการนอนกรน

    ปัจจัยที่ทำให้เกิดการนอนกรนในผู้หญิงเพิ่มขึ้น

    คือช่วงระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause) มีโอกาสที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากสูญเสียฮอร์โมนที่สำคัญ

    ปัญหานอนกรนในเด็ก

    เด็กนอนกรนถ้าเป็นร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับยิ่งเสี่ยงอันตรายมักมีสาเหตุมาจากต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต ผู้ปกครองควรระวังและหมั่นสังเกตอยู่เสมอ เพราะในบางกรณีอาจไม่ได้มีอาการนอนกรนเพียงอย่างเดียวแต่เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย หากปล่อยให้มีอาการบ่อยครั้งในช่วงของการเจริญเติบโต อาจมีปัญหาต่อระบบประสาทและพฤติกรรมของเด็กได้

    นอนกรน อย่างไรควรเข้าพบแพทย์

    คนที่มีอาการนอนกรนร่วมกับอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกเพื่อหาอากาศหายใจ มีอาการอ่อนเพลียหรือเวียนศีรษะในตอนเช้า ง่วงระหว่างวัน และบางรายอาจมีความต้องการทางเพศลดลงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้อง เช่น ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ อัมพาต หรือทำให้คนรอบข้างนอนไม่หลับ ควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาอาการนอนกรนต่อไป

    วิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการ นอนกรน

    • หากมีอาการคัดจมูกจากภูมิแพ้ควรรักษา
    • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงใกล้นอน
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับประสาทและยานอนหลับ
    • คุมอาหาร ลดน้ำหนักในกลุ่มที่มีภาวะอ้วนหรือมีค่า BMI เกินมาตรฐาน
    • ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ วินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง

    วิธีรักษาอาการนอนกรน

    ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง เช่น 

    • ปรับเปลี่ยนท่านอน เช่น การนอนตะแคงอาจดีขึ้นในผู้ป่วยบางราย
    • หากอ้วนควรลดน้ำหนัก รักษาน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน
    • ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เพื่อเปิดทางเดินหายใจที่ตีบแคบให้กว้างขึ้น
    • ใส่อุปกรณ์ดึงลิ้นหรือกรามให้เลื่อนไปด้านหน้า
    • การผ่าตัดแก้ทางเดินหายใจส่วนที่ตีบแคบ หย่อน ให้กว้างขึ้น เช่น การใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้เทอร์บิเนตอันล่าง การผ่าตัดตกแต่งผนังกลางจมูก การตัดทอนซิล การผ่าตัดเพดานโคนลิ้นและคอหอย และการผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรบนและล่างมาด้านหน้า

    อาการนอนกรนอาจส่งผลเสียทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง หากมีปัญหานอนกรนควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางจะดีที่สุด เพื่อจะได้ค้นหาสาเหตุ ภาวะแทรกซ้อน และความผิดปกติที่เกิดจากการนอนกรน เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที

     

    ข้อมูลจาก

    อ. พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล 

    ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา 

    คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 

     

    มหาวิทยาลัยมหิดล



เข้าชม : 207


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      จอประสาทตาเสื่อม สูงวัยทำอย่างไร ? 23 / ก.พ. / 2567
      ทอนซิลอักเสบ อาการ เจ็บคอ ที่ต้องระวัง ! 23 / ก.พ. / 2567
      อาการเสี่ยง กรดไหลย้อน ! ที่ต้องรู้ 23 / ก.พ. / 2567
      อาหารเช้ามื้อสำคัญ ไม่ควรมองข้าม 27 / พ.ย. / 2566
      อาหารบำบัดโรคหัวใจ 27 / พ.ย. / 2566


 
ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกำแพงแสน  จังหวัดนครปฐม 
เลขที่ 179 หมู่ 2 ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน  จังหวัดนครปฐม  73140
  
โทรสาร 034-352039 , 034-282364  
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by   นายบุญมา มาดี