กลุ่มเสี่ยงที่อาจพบการกรนและหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
เช่น
- ผู้ที่มีโรคทางหัวใจ อัมพาต ความดันเลือดสูง (ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนมาจากโรคกรนและหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น)
- โรคภูมิแพ้
- พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- เพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ที่มีคางถอยผิดปกติ
- โครงสร้างของช่องจมูกแคบ เช่น สันจมูกคด เทอร์บิเนตโตขึ้น
- น้ำหนักเกินมาตรฐานทำให้ทางเดินหายใจแคบ
- รับประทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยานอนหลับ หรือยาระงับประสาทหรือยาระงับความรู้สึก
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
ผู้หญิงกับอาการนอนกรน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการนอนกรนในผู้หญิงเพิ่มขึ้น
คือช่วงระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause) มีโอกาสที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากสูญเสียฮอร์โมนที่สำคัญ
ปัญหานอนกรนในเด็ก
เด็กนอนกรนถ้าเป็นร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับยิ่งเสี่ยงอันตรายมักมีสาเหตุมาจากต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต ผู้ปกครองควรระวังและหมั่นสังเกตอยู่เสมอ เพราะในบางกรณีอาจไม่ได้มีอาการนอนกรนเพียงอย่างเดียวแต่เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย หากปล่อยให้มีอาการบ่อยครั้งในช่วงของการเจริญเติบโต อาจมีปัญหาต่อระบบประสาทและพฤติกรรมของเด็กได้
คนที่มีอาการนอนกรนร่วมกับอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกเพื่อหาอากาศหายใจ มีอาการอ่อนเพลียหรือเวียนศีรษะในตอนเช้า ง่วงระหว่างวัน และบางรายอาจมีความต้องการทางเพศลดลงหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้อง เช่น ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ อัมพาต หรือทำให้คนรอบข้างนอนไม่หลับ ควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาอาการนอนกรนต่อไป
วิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการ นอนกรน
- หากมีอาการคัดจมูกจากภูมิแพ้ควรรักษา
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงใกล้นอน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับประสาทและยานอนหลับ
- คุมอาหาร ลดน้ำหนักในกลุ่มที่มีภาวะอ้วนหรือมีค่า BMI เกินมาตรฐาน
- ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ วินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง
วิธีรักษาอาการนอนกรน
ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง เช่น
- ปรับเปลี่ยนท่านอน เช่น การนอนตะแคงอาจดีขึ้นในผู้ป่วยบางราย
- หากอ้วนควรลดน้ำหนัก รักษาน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน
- ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เพื่อเปิดทางเดินหายใจที่ตีบแคบให้กว้างขึ้น
- ใส่อุปกรณ์ดึงลิ้นหรือกรามให้เลื่อนไปด้านหน้า
- การผ่าตัดแก้ทางเดินหายใจส่วนที่ตีบแคบ หย่อน ให้กว้างขึ้น เช่น การใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้เทอร์บิเนตอันล่าง การผ่าตัดตกแต่งผนังกลางจมูก การตัดทอนซิล การผ่าตัดเพดานโคนลิ้นและคอหอย และการผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรบนและล่างมาด้านหน้า
อาการนอนกรนอาจส่งผลเสียทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง หากมีปัญหานอนกรนควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางจะดีที่สุด เพื่อจะได้ค้นหาสาเหตุ ภาวะแทรกซ้อน และความผิดปกติที่เกิดจากการนอนกรน เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที
ข้อมูลจาก
อ. พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล