ปัจจัยเสี่ยงกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ได้แก่
- น้ำหนักที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน
- รับประทานอาหารและนอนทันที
- ความเครียด
- การรับประทานอาหารรสจัดมากเกินไป
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่จัด
กรดไหลย้อนเสี่ยง มะเร็งหลอดอาหาร จริงหรือไม่
เมื่อผู้ป่วยมีอาการกรดไหลย้อนจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังบริเวณหลอดอาหาร บริเวณกล่องเสียง และช่องคอ หากผู้ป่วยมีอาการอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานานจะส่งผลให้เซลล์บริเวณเยื่อบุผิวของหลอดอาหารมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยส่วนใหญ่จะไม่สามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็ง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า ภาวะหลอดอาหารบาร์เรตต์ ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้
วิธีการรักษาเบื้องต้นเมื่อเป็นกรดไหลย้อน
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น งดอาหารมันหรือทอด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การกินอย่างไร ? เมื่อเป็น โรคกรดไหลย้อน
- งดน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต ชา หรือกาแฟ
- รับประทานอาหารให้อิ่มพอดี
- รักษาด้วยยา ได้แก่ ยาที่ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน
วิธีป้องกัน กรดไหลย้อน
- ไม่รับประทานอาหารมากหรืออิ่มจนเกินไปในแต่ละมื้อ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มความเป็นกรด เช่น น้ำมะนาว
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >>> ไม่อยากเป็น โรคกรดไหลย้อน ทำตามนี้
กรดไหลย้อนไม่ควรปล่อยไว้จนกลายเป็นภาวะเรื้อรัง อาจทำให้เกิดแผลรุนแรงจนกระทบต่อหลอดอาหาร ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการเบื้องต้นที่บ่งบอกว่าเป็น กรดไหลย้อนควรรีบเข้ารับการรักษากับทางแพทย์เพื่อป้องกันภาวะเรื้อรังที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย
ข้อมูลจาก
อ. พญ.โยษิตา หมื่นแก้ว
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล