เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก สภากาชาดไทย ได้โพสต์ข้อมูลสาระน่ารู้เรื่อง "โควิด-19 กับการติดเชื้อทางผิวหนัง" โดย ศ. ดร. นพ.ประวิตร อัศวานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่รวบรวมข้อมูลและไขข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มาอธิบายในแบบที่เข้าใจง่าย ดังนี้
1. เชื้อโควิด 19 มีโอกาสล่องลอยอยู่ในอากาศ
- โดยเฉพาะในพื้นที่อับ แต่ในสภาพปกติที่อากาศถ่ายเท เชื้อจะฟุ้งหรือแพร่กระจายได้ไม่ไกล
2. ช่องทางหลักที่เชื้อจะแพร่ได้ คือ ฝอยละอองจากการไอ จาม หรือพูดเสียงดัง ๆ
- ฝอยละอองเหล่านี้จะตกอยู่บนโต๊ะ ปุ่มลิฟต์ ราวบันได และพื้นผิวต่าง ๆ จึงต้องระวังการสัมผัสสารคัดหลั่งโดยไม่รู้ตัว
จริงหรือไม่ การสัมผัสเหงื่อไม่ติดเชื้อ COVID-19
- เนื่องจากเหงื่อไม่ใช่สารคัดหลั่ง และไวรัสอยู่ในระบบทางเดินหายใจ การสัมผัสเหงื่อจึงไม่ติดเชื้อโควิด
เชื้อโควิด 19 ติดบนเส้นผมได้หรือไม่
- ขึ้นอยู่ว่าได้รับเชื้อจากสารคัดหลั่งหรือไม่ หากได้รับละอองฝอยน้ำลายของผู้ป่วยโควิด 19 ก็มีโอกาสติดเชื้อ และเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้อนั้นจะอยู่บนเส้นผมได้นานเท่าไร เมื่อกลับบ้านควรรีบอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อย
รังสียูวี สามารถฆ่าเชื้อโควิดได้หรือไม่
- รังสียูวีซีสามารถฆ่าเชื้อได้ แต่ยูวีซีบางชนิดต้องใช้โดยไม่ให้โดนผิวหนังหรือดวงตา เหมาะสำหรับการอบห้องที่ไม่มีคนอยู่ เช่น เปิดไว้ข้ามคืน ไม่ควรใช้ติดในซุ้มให้คนเดินผ่านหรือในตู้ เพราะไม่ช่วยในการป้องกันการติดเชื้อ ในปัจจุบันเริ่มมีการผลิตยูวีซีที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
เข้าชม : 495
|