เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : บทความสุขภาพ
หัวข้อเรื่อง : กินเจวิถีใหม่ อิ่มใจ ได้สุขภาพ

ศุกร์ ที่ 8 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2564

คะแนน vote : 86  

 ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. อธิบายว่า หลักการพื้นฐานในการกินเจให้ได้สุขภาพง่ายๆ มีอยู่ 2 ข้อคือ 1. ต้องกินให้ครบ 5 หมู่ เนื่องจากร่างกายต้องการสารอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในอาหาร ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ และ 2. กินให้สมดุลกับร่างกาย เพราะทุกวันนี้มีคนเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง ถุงลมโป่งพอง โรคอ้วน เป็นต้น  ซึ่งสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่สมดุล ก็ส่งผลต่อการเกิดโรค

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนอาหารเจคืออาหารที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ หรือผลิตจากสัตว์ เน้นผักผลไม้ กินแป้งได้รวมไปถึงกินเครื่องปรุงบางอย่างได้  อย่างไรก็ตามการกินในปริมาณที่มากเกินไป โดยเฉพาะแป้งที่ให้พลังงานเยอะเกิน  เมื่อเข้าไปในร่างกายเปลี่ยนสะสมเป็นไขมันจะทำให้อ้วนได้ ขณะที่การปรุงอาหารเจส่วนใหญ่มักใช้วิธีการผัดหรือทอดกับน้ำมัน ซึ่งหากกินมากไปก็เป็นเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ได้ นอกจากนี้ไม่ควรใช้น้ำมันทอดซ้ำเพราะมีสารก่อมะเร็ง

ดังนั้นจึงอยากจะแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการปรุง เช่น การนึ่ง การต้ม ซึ่งสามารถช่วยลดไขมันลงไปได้ แต่ถ้าจะต้องใช้วิธีทอดก็ควรจะต้องทำให้สะเด็ดน้ำมัน หรือใช้น้ำมันให้น้อยที่สุด ขณะที่กลุ่มโปรตีน ในช่วงกินเจเราสามารถใช้วิธีอื่นเสริม เช่น การกินพืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ที่ทำมาจากถั่ว อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มเด็กและคนท้อง ไม่แนะนำให้กินเจเพราะต้องการสารอาหารมากเป็นพิเศษ แต่หากจะกินเจช่วงสั้นๆ ก็สามารถกินได้แต่ถ้าจะกินนานกว่านั้น อาจต้องเสริมอาหารอย่างอื่นร่วมด้วย

นพ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ขณะที่การเลือกซื้อผักและผลไม้ ควรเลือกซื้อจากร้านที่สะอาด และต้องนำไปล้างน้ำก่อนกินหรือปรุงอาหาร เพื่อลดสารเคมีตกค้าง หรืออาจจะเลือกซื้อผักผลไม้ที่ปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ขณะที่การเติมเครื่องปรุงต่างๆ ก็ต้องระวัง เช่น ซอสถั่วเหลือง ซีอิ๊ว เพราะมีปริมาณโซเดียมที่สูง ซึ่งการกินเค็มมากๆ จะทำให้เสี่ยงเป็นโรคไต และโรคความดันโลหิตสูงได้  เช่นเดียวกับความเค็มแฝงในอาหารแปรรูปหรือผงปรุงรสก็ต้องระวัง เพราะมักใช้โซเดียมเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นเราควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง
 



เข้าชม : 452


บทความสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด

      สมุนไพรที่ช่วยบรรเทาหวัด 26 / ธ.ค. / 2565
      5 วิธีแก้อาการปวดฟันด้วยตัวเอง 9 / พ.ย. / 2564
      รู้ทัน ป้องกันไว้ ไม่ให้หัวใจขาดเลือด 8 / ต.ค. / 2564
      8 แนวทางป้องกันโรคอัลไซเมอร์ 8 / ต.ค. / 2564
      กินเจวิถีใหม่ อิ่มใจ ได้สุขภาพ 8 / ต.ค. / 2564