บทบาทหน้าที่ภารกิจ กศน.ตำบล
กศน.ตำบลจะมีการปรับบทบาทภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและบริบทของพื้นที่ตลอดจนรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนมากขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินงาน 4 ศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่
1) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ เป็นศูนย์กลางการส่งเสริม จัดกระบวนการการเรียนรู้ และหน่วยประสานงานแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในชุมชน ดำเนินงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาจักร (กอ.รมน.)
2) ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) เพื่อสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยเฉพาะสิทธิและหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยบูรณาการความร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
3) ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งบริหารจัดการฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับ กศน. และชุมชน เพื่อให้มีความรู้และรับรู้ที่เท่าทันปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคดิจิทัล
4) ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้มีคุณภาพที่สอดคล้องกับนโยบายทางการศึกษา โดยยึดชุมชนเป็นฐานในการดำเนินงาน โดย กศน.ตำบลมีบทบาทเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก
บทบาทหน้าที่ของหัวหน้า กศน. ตําบล
1. การวางแผนจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีกระบวนการทำงาน ดังนี้
1.1 ศึกษาสำรวจชุมชนโดยละเอียดเพื่อจัดทำฐานข้อมูลชุมชน ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลประชากรจำแนกตามตามอายุเพศ อาชีพ ฯลฯ ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพทางภุมิศาสตร์ ประวัติชุมชน ข้อมูลด้านอาชีพ รายได้ ข้อมูลทางสังคม ประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น
1.2 จัดทำเวทีประชาคมร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนชุมชน ที่ระบุความต้องการในการพัฒนาชุมชนความต้องการการเรียนรู้ หรือการศึกษาต่อ ฯลฯ ของประชาชนในชุมชน
1.3 จัดทำโครงการด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มาจากแผนชุมชนเสนอต่อศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเพื่อขอรับการสนับสนุน และประสาน ขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย
1.4 ประสานงานแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย องค์กรปรครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนอาสาสมัครต่าง ๆ เพื่อร่วมจัดกิจกรรมการศึกษา ตามอัธยาศัยของชุมชนที่รับผิดชอบ
2. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของ กศน. ตำบล โดยจำแนกกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนี้
2.1 การส่งเสริมการรู้หนังสือ
2.2 การจัดการศึกษาในหลักสูตรการศึกษานอกระบบรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.3 การจัดการศึกษาต่อเนื่อง หลักสูตรระยะสั้นเพื่อการพัฒนาอาชีพ (วิชาทำมาหากิน) การพัฒนาทักษะชีวิตและการพัฒนาสังคมและชุมชน
2.4 การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
2.5 การจัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
ทั้งนี้ครู กศน. ตำบลจะมีบทบาทหลักเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitater) ให้กลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ โดยมีกระบวนการทำงาน คือ
1) วางแผนการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียน ในแต่ละกิจกรรม/หลักสูตรเกี่ยวกับวิธีเรียน เวลาเรียน การใช้สื่อหรือแบบเรียน และการวัดผลประเมินผล
2) ประสานงานเพื่อจัดหาวิทยากร หรือผู้สอนในแต่ละรายวิชาหรือแต่ละหลักสูตรร่วมกับ กศน.ตำบล และจัดส่งผู้เรียนไปเรียนรู้ตามแผนที่วางไว้
3) ให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้เรียนรุ้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งคอยช่วยแก้ไขปัญหาในการเรียนและการสอนตลอด หลักสูตร
4) ประสานงานกับ กศน.อำเภอ เพื่อจัดหาสื่อและวัสดุอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนในแต่ละหลักสูตร
5) ประสานงานกับ กศน. อำเภอ เกี่ยวกับการวัดผลและประเมินผลในแต่ละหลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
6) สรุปผลและรายงานผลการจัดกิจกรรมเรียนรู้ต่อ กศน.อำเภอ
3. การให้บริการการเรียนรู้ใน กศน.ตำบล โดยเฉพาะกิจกรรมศูนย์ข้อมูลข่าวสารของชุมชนศูนย์บริการชุมชนซึ่งนอกเหนือจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น
3.1 กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และมุมห้องสมุดชุมชน
3.2 การให้บริการสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วีดีทัศน์ รายการวิทยุเพื่อการศึกษา
3.3 การประสานงานสนับสนุนศูนย์ซ่มสร้างเพื่อชุมชน (Fit it Center) หรือช่างชนบท
4. การสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งสนับสนุนการใช้บริการของประชาชนในชุมชน เพื่อเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการจัดกิจกรรมขององค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐอื่นและส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมในชุมชน เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมคุ้มครองผุ้บริโภค สภาเด็กและเยาวชน และองค์กรนักศึกษา กศน. เป็นต้น
5. การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน โดยการประสานขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย องค์กรชุมชนผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อร่วมเป็นอาสาสมัคร กศน. อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน เป็นต้น
เข้าชม : 857 |