สร้างภูมิคุ้มกัน ให้ห่างไกลไข้หวัดใหญ่
โรคภัยไข้เจ็บพร้อมจู่โจมเข้าร่างกายทันที เมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ยิ่งช่วงที่มีอากาศแปรปรวน ทั้งร้อนอบอ้าวและฝนตก อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เชื้อโรคหลายชนิดแพร่ระบาดได้รวดเร็ว ทำให้เจ็บป่วยง่ายขึ้น โรคฮิตที่พบได้บ่อยและมักระบาดในช่วงเวลานี้ คือ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแม้จะหายเองได้ แต่หากได้รับการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันไว้ก่อน ก็จะสามารถป้องกัน ลดความรุนแรงของโรคได้ ส่งผลสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขได้ในระยะยาว
นพ.ยสเนติ์ คำปลิว แพทย์ประจำศูนย์สุขภาพและอาชีวอนามัย โรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้มีไข้ ไอ น้ำมูก คัดจมูก จาม อาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลียคล้ายกับไข้หวัด แต่อาการจะรุนแรงกว่า นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดลมและปอดอักเสบ นอกจากนั้น ยังทำให้คนไข้ที่มีโรคประจำตัวมีอาการกำเริบจากการติดเชื้อ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคที่เกี่ยวกับตับและไต เป็นต้น
ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดทั่วโลกเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A และ B ซึ่งในอดีตไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสายพันธุ์ A เป็นหลัก ซึ่งเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A นี้ประกอบไปด้วย A/H1N1 และ A/H3N2 แต่ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B บ่อยขึ้น โดยมีการระบาดร่วมกันของไวรัสสายพันธุ์ B ทั้ง 2 สายพันธุ์คือ Victoria และ Yamagata ซึ่งสัดส่วนในการระบาดของทั้ง 2 ตระกูลไม่แน่นอน คาดการณ์ยากว่าจะเกิดการระบาดจากสายพันธุ์ใด จึงเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้น องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จึงมีการแนะนำวิธีในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยการป้องกันโรคด้วยการ ฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถฉีดได้ในผู้ใหญ่และเด็ก ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ และ หลังคลอดจนถึง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้องรัง โรคตับ โรคเบาหวาน และคนที่เป็นโรคอ้วน (BMI มากกว่า 40) นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์เองควรได้รับวัคซีน เพราะมีโอกาสได้รับเชื้อจากคนไข้หรือเป็นคนส่งผ่านเชื้อไปยังคนไข้รายอื่น
นพ.ยสเนติ์ กล่าวเสริมว่า ในสำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในสัดส่วน 1,000- 2,000 รายต่อประชากร 100,000รายต่อปี การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยวัคซีนจึงมีความจำเป็น ที่ผ่านมา วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่นำมาใช้สร้างภูมิคุ้มกันเป็นชนิด 3 สายพันธุ์ (Trivalent Influenza vaccine) ซึ่งผลิตจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A ทั้ง 2 สายพันธุ์ และสายพันธุ์ B 1 สายพันธุ์ โดยเลือกจากสายพันธุ์ B/Victoria หรือ B/Yamagata แต่ล่าสุด องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้แนะนำวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ครอบคลุมไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent Influenza vaccine) ประกอบไปด้วย A/H1N1 A/H3N2 และ B/Victoria B/Yamagata
ในเมืองไทยก็เช่นกัน เราสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ด้วยวัคซีนที่ครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธุ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วยได้
นพ.ยสเนติ์ กล่าวแนะนำปิดท้ายว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ครอบคุลมทั้ง 4 สายพันธุ์ ควรฉีดเป็นประจำทุกปี เนื่องจากวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปี เป็นเชื้อต่างชนิดกันและบางสายพันธุ์คาดการณ์การระบาดได้ยาก วัคซีนแต่ละชนิดไม่สามารถป้องกันเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ ดังนั้น ควรฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันสูงอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และห่างไกลจากโรคไข้หวัดใหญ่”
เข้าชม : 699
|