เนื้อหา : สาระน่ารู้
หมวดหมู่ : ภูมิปัญญาชาวบ้าน
หัวข้อเรื่อง : ชาวม้งภูชี้ฟ้าสืบสานพระราชดำริ ทำผลิตภัณฑ์การทอ \"ผ้าใยกัญชง\"

พฤหัสบดี ที่ 13 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

คะแนน vote : 169  

 ในอดีตชาวเขาเผ่าม้งในพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ใกล้กับภูชี้ฟ้า ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย จะถักทอผ้าด้วยใยกัญชง เพื่อสวมใส่ในวันสำคัญต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาและมีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในช่วงหลังผ้าทอจากใยกัญชงมีผู้นิยมสวมใส่น้อยลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่หันไปสวมใส่เสื้อผ้าสมัยใหม่มากขึ้น ประกอบกับกัญชงกลายเป็นพืชจัดอยู่ในประเภทยาเสพติดประเภท 5 แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้ปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ยังจำกัดพื้นที่ 6 จังหวัด โดยจะปลูกได้ในบางอำเภอของ จ.เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก เพชรบูรณ์ และแม่ฮ่องสอน ทำให้ยากต่อการหากัญชงมาทำเสื้อผ้า ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม ราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนพสกนิกรในพื้นที่ดอยยาวดอยผาหม่น พระองค์ทรงสนพระทัยเสื้อผ้าที่ชาวบ้านสวมใส่มารับเสด็จฯ จึงมีพระราชดำริให้ชาวบ้านทอผ้ามาขายใน โครงการศูนย์ศิลปาชีพ เพราะมีความสวยงามคงทน แต่ด้วยกระบวนการทำที่ยุ่งยากนานวันเข้าจึงไร้ผู้ศึกษาสืบสาน ด้าน พ.ต.อนุชิต มานะสมบูรณ์ หน.ชป.โครงการพระราชดำริดอยยาวดอยผาหม่น เปิดเผยว่า ทางหน่วยทหาร โครงการพระราชดำริดอยยาวดอยผาหม่น ได้ร่วมกับ ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนเชียงราย จัดอบรมการทอผ้าใยกัญชงขึ้น โดยมี นางพิสมัย ฤทธิ์รักษา ครูศูนย์ฝึกเป็นผู้ดำเนินการฝึกอบรม ได้รับความสนใจจากกลุ่มแม่บ้านและเยาวชนในบ้านพญาเลาอูสมัครเข้ารับการอบรมจำนวน 20 คน ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) สาขาดอยผาหม่น บ้านพญาเลาอู หมู่ 23 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย มีกำหนดการอบรม 11 วัน ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 3-13 ก.พ.63 โครงการอบรมครั้งนี้สอนตั้งแต่ขั้นตอนการตัดต้นกัญชง การทำเส้นใยกัญชง และการนำเอาใยกัญชงไปถักทอเป็นผลิตภัณฑ์ การทอผ้าใยกัญชง เป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชเสาวนีย์ ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ต้องการให้ประชาชนบนพื้นที่สูงได้มีอาชีพจากงานฝีมือแทนการทำไร่เลื่อนลอย โดยให้ชาวบ้านนำต้นกัญชงมาทอเป็นผ้าส่งขายที่ศูนย์ศิลปาชีพ เพราะการทอผ้าใยกัญชงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำกันมาตั้งแต่อดีตอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ผลิตเพื่อส่งจำหน่าย สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงให้ชาวบ้านทอผ้าแล้วส่งไปขายที่ศูนย์ศิลปาชีพ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนปีละหลายหมื่นบาทต่อครัวเรือน แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่บนพื้นที่สูงนิยมสวมใส่เสื้อผ้าสำเร็จรูปมากขึ้น เพราะการทอผ้าใย กัญชงมีกระบวนการยุ่งยาก จึงไม่ค่อยมีใครสนใจศึกษาสานต่อ น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งหากปล่อยให้เลือนหายไปตามกาลเวลา ทั้งหมดนี้คือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นล้วนๆ เชื่อว่าในอนาคตหากรัฐบาลมีการผ่อนปรน หรือยกเลิกการควบคุมต้นกัญชง และสนับสนุนให้คนบนดอยหันมาทำผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าจากใยกัญชง รวมทั้งจัดหาตลาดรองรับให้ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชงอาจจะดังไปไกลถึงเมืองนอกก็เป็นไปได้ ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เขาสืบทอดมรดกอันล้ำค่านี้สืบต่อไป แทนที่จะปล่อยให้สูญหายไปตามกาลเวลา เพราะนี่คือสมบัติอันล้ำค่าที่เกิดจากภูมิปัญญาของปู่ย่าตายาย สมควรที่คนรุ่นหลังต้องช่วยกันรักษา.

เข้าชม : 615


ภูมิปัญญาชาวบ้าน 5 อันดับล่าสุด

      ชาวม้งภูชี้ฟ้าสืบสานพระราชดำริ ทำผลิตภัณฑ์การทอ \"ผ้าใยกัญชง\" 13 / ก.พ. / 2563