พระยาอุปกิตศิลปสาร ผู้ริเริ่ม
ผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า “สวัสดี” คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) โดยพิจารณามาจากศัพท์ “โสตฺถิ” ในภาษาบาลี หรือ “สวัสติ” ในภาษาสันสกฤต โดยได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรก ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่พระยาอุปกิตศิลปสารเป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเห็นชอบให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม เป็นต้นมา
สวัสดี เป็นภาษาสันสกฤต
“สวัสดี” เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า “สุ” เป็นคำอุปสรรค (คำเติมหน้าศัพท์ที่ทำให้ความหมายของศัพท์เปลี่ยนแปลงไป) แปลว่า ดี งาม หรือ ง่าย และคำว่า “อสฺติ” เป็นคำกิริยาแปลว่า มี แผลงคำว่า “สุ” เป็น “สว” (สฺวะ) ได้โดยเอา “อุ” เป็น “โอ” เอา “โอ” เป็น “สฺว” ตามหลักไวยากรณ์ แล้วสนธิกับคำว่า “อสฺติ” เป็น “สวสฺติ” อ่านว่า สะ-วัด-ติ แปลว่า “ขอความดีความงามจงมี (แก่ท่าน) ”
จาก “สวสฺติ” เป็น สวัสดี
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้ปรับเสียงของคำว่า “สวสฺติ” ที่ท่านได้สร้างสรรค์ขึ้นให้ง่ายต่อการออกเสียงของคนไทย จากคำสระเสียงสั้น (รัสสระ) ซึ่งเป็นคำตาย มาเป็นคำสระเสียงยาว (ทีฆสระ) ซึ่งเป็นคำเป็น ทำให้ฟังไพเราะ รื่นหูกว่า จึงกลายเป็น “สวัสดี” ใช้เป็นคำทักทายที่ไพเราะและสื่อความหมายดี ๆ ต่อกันของคนไทย
ราตรีสวัสดิ์, อรุณสวัสดิ์ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ส่วนคำว่า “ราตรีสวัสดิ์” ซึ่งเป็นคำแปลจากคำว่า “good night” ซึ่งเป็นคำลาในภาษาอังกฤษ ได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม
โดยกำหนดให้คนไทยทักกันตอนเช้าว่า “อรุณสวัสดิ์” มาจากคำว่า “good morning”
ทักกันในตอนบ่ายว่า “ทิวาสวัสดิ์” มาจากคำว่า “good afternoon”
ตอนเย็นให้ทักกันว่า “สายัณห์สวัสดิ์” มาจากคำว่า “good evening”
แต่เนื่องจากต้องเปลี่ยนไปตามเวลา จึงไม่เป็นที่นิยม คนไทยนิยมใช้คำว่า “สวัสดี” มากกว่า เพราะใช้ได้ตลอดเวลา แต่กระนั้นคนไทยก็ยังคงใช้อยู่บ้างบางคำคือ คำว่า อรุณสวัสดิ์ และราตรีสวัสดิ์
คนไทยกล่าวสวัสดี และนิยมยกมือขึ้นไหว้
คำว่าสวัสดีนั้นจะทำหน้าที่ทั้งการทักทาย และอวยพรไปในคราวเดียวกัน และเมื่อเรากล่าวคำว่าสวัสดี คนไทยเรายังยกมือขึ้นประนมไหว้ตรงอก มือทั้งสองจะประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม เหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล เพราะชาวไทยใช้ดอกบัวในการสักการะผู้ใหญ่ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้นมาจากใจของผู้ไหว้
ดังนั้น เมื่อกล่าวคำว่าสวัสดีพร้อมกับการยกมือขึ้นประนม จึงแฝงให้เห็นถึงความมีจิตใจที่งดงามของคนไทย ที่หวังให้ผู้อื่นพบเจอแต่ในสิ่งที่ดี ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ถือเป็นมงคลต่อทั้งตัวผู้พูดและผู้ฟัง และยังสามารถเพิ่มเสน่ห์ในตัวบุคคลได้อีกด้วย
เข้าชม : 11390
|