เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : บทความทั่วไป
หัวข้อเรื่อง : จอประสาทตาเสื่อม สูงวัยทำอย่างไร ?

ศุกร์ ที่ 23 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

คะแนน vote : 12  

 

โรคจุดรับภาพเสื่อม (age-related macular degeneration)

เป็นโรคที่จุดรับภาพเสื่อมการทำงานในผู้มีอายุมากกว่า 50 ปี ในระยะแรก อาจทำให้ผู้ป่วยมองเห็นวัตถุคดเบี้ยว เห็นสีน้อยลง ภาพเสียความคมชัดไป หากมีอาการที่มากขึ้นจะทำให้การมองเห็นเลือนรางหรือพร่ามัว และอาจถึงกับตาบอดได้ในที่สุด

สามารถแบ่งประเภทของภาวะจุดรับภาพเสื่อมได้ดังนี้

  • โรคจุดรับภาพเสื่อมชนิดแห้ง หรือชนิดไม่มีเส้นเลือดเปราะ (dry type) เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดในผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 80 ในชนิดนี้ มีของเสียจากจอรับภาพที่ร่างกายกำจัดไม่ได้มาสะสมใต้จุดรับภาพ จุดรับภาพจะฝ่อบางลงและทำงานรับภาพได้ลดลงทีละน้อย ส่วนใหญ่จะแสดงอาการออกมาอย่างช้า ๆ การดำเนินโรคใช้เวลาค่อยเป็นค่อยไปในหลักหลายปี
  • โรคจุดรับภาพเสื่อมชนิดเปียก หรือชนิดมีเส้นเลือดเปราะ (wet type) ในชนิดนี้ จะมีเส้นเลือดเปราะผิดปกติใต้จุดรับภาพ ซึ่งทำให้มีเลือดออกหรือเกิดสารน้ำรั่วซึมออกมาขังที่จุดรับภาพ ทำให้เซลล์รับแสงบวม ตาย ผู้ป่วยจะสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้มัวมากได้ภายในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์หลังเริ่มมีอาการ โรคจุดรับภาพเสื่อมชนิดมีเส้นเลือดเปราะนี้ อาจเป็นอาการต่อเนื่องจากจุดรับภาพเสื่อมชนิดไม่มีเส้นเลือดเปราะที่ทราบมาก่อนแล้ว หรือเป็นอาการแรกในผู้ป่วยที่ไม่เคยตรวจตามาก่อนก็ได้
  • ปัจจัยเสี่ยง จอประสาทตาเสื่อม

    • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
    • พันธุกรรม
    • การสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไขมันในเลือดสูง
    • การโดนแสงอัลตราไวโอเลตสะสมมาเป็นเวลานาน (ultraviolet, UV)

    อ่านเพิ่มเติม >>> ขาดวิตามินเอทำให้ จอประสาทตาเสื่อม จริงหรือ !?

    อาการของโรคจุดรับภาพเสื่อม

    เมื่อจุดรับภาพเสื่อมสภาพลงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังนี้

     

    • มองเห็นภาพเบลอ
    • เห็นภาพมีลักษณะบิดเบี้ยวผิดรูปไปจากเดิม เห็นสีเพี้ยนไป
    • ใช้แสงสว่างมากกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น
    • มีจุดดำกลางภาพที่มองเห็น
    • สูญเสียความสามารถที่อาศัยความคมชัดของการมองเห็นไป เช่น จำแนกความแตกต่างของใบหน้าไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ได้ ขับรถไม่ได้
    •  วิธีป้องกัน

      • สวมใส่แว่นกันแดดเมื่ออยู่ในที่แสงจ้า
      • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
      • งดการสูบบุหรี่
      • รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักคะน้า ข้าวโพด หรือถั่วลันเตา

      วิธีรักษา จอประสาทตาเสื่อม

      ในทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายเป็นจุดรับภาพปกติได้ แต่จะชะลอเวลาให้เกิดความเสื่อมช้ามากที่สุด และฟื้นการมองเห็นได้ในรายที่รักษาได้เร็วพอ โดยจะแบ่งการรักษาตามประเภท ดังนี้

      • การรักษาโรคจุดรับภาพเสื่อมชนิดไม่มีเส้นเลือดเปราะ (ชนิดแห้ง) 

      เป้าหมายการรักษาคือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามมากขึ้น กลายเป็นชนิดมีเส้นเลือดเปราะ ทางแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ามาตรวจเช็กสายตากับทางจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รับประทานวิตามินรวมเพื่อลดโอกาสการเปลี่ยนชนิดไปเป็นชนิดที่มีเส้นเลือดเปราะ ตรวจก่อนนัดทันทีเมื่อรู้สึกผิดปกติ 

      ในบางราย หากมีปัญหาทางด้านสายตา หรือโรคตาอื่นที่อาจมีส่วนต่อการมองเห็นร่วมด้วย เช่น สายตาสั้น ต้อกระจก ก็รักษาตามปัญหานั้น เช่น ใส่แว่น หรือผ่าตัดลอกต้อกระจก

      ปัจจุบันมียาฉีดเข้าตาเพื่อลดโอกาสการเปลี่ยนจากชนิดแห้งไปเป็นชนิดเปียก แต่ยังไม่เป็นที่นิยมนักเนื่องจากวิธีการรักษายังยุ่งยากและมีความเสี่ยง

      • การรักษาโรคจุดรับภาพเสื่อมชนิดมีเส้นเลือดเปราะ (ชนิดเปียก)

      เป้าหมายการรักษาคือการปิดเส้นเลือดที่เปราะใต้จุดรับภาพ ทำให้เส้นเลือดที่เปราะใต้จุดรับภาพแข็งแรงขึ้น เพื่อหยุดการรั่ว ป้องกันการแตกซ้ำ ซึ่งปัจจุบันจะเป็นการฉีดยาเข้าตา หรือฉายเลเซอร์ (จะต้องฉีดยาหลายครั้งในแต่ละราย)

      ในรายที่มีเลือดออกมากใต้จุดรับภาพ หากทิ้งไว้อาจทำให้จุดรับภาพเสียหายถาวร หรือรายที่มีเลือดฟุ้งออกมาในวุ้นตา บดบังการมองเห็น อาจต้องทำการผ่าตัดล้างเลือดออกจากวุ้นตา หรือจากใต้จุดรับภาพ ร่วมกับการฉีดยาซ้ำๆเพื่อป้องกันการเกิดเลือดออกซ้ำ

      พยากรณ์โรค

      ในรายที่ตรวจรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น มักจะป้องกันภาวะตาบอดจากโรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุได้ในรายที่ตรวจรักษาช้า ได้รับการตรวจในระยะท้ายของโรค อาจไม่มีวิธีรักษาให้การมองเห็นกลับมาดีขึ้นได้อีกเลย

       

      ข้อมูลจาก

      อ. นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย

      สาขาวิชาน้ำวุ้นตาและจอประสาทตา

      ภาควิชาจักษุวิทยา

      คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

      มหาวิทยาลัยมหิดล



เข้าชม : 87


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      จอประสาทตาเสื่อม สูงวัยทำอย่างไร ? 23 / ก.พ. / 2567
      ทอนซิลอักเสบ อาการ เจ็บคอ ที่ต้องระวัง ! 23 / ก.พ. / 2567
      อาการเสี่ยง กรดไหลย้อน ! ที่ต้องรู้ 23 / ก.พ. / 2567
      อาหารเช้ามื้อสำคัญ ไม่ควรมองข้าม 27 / พ.ย. / 2566
      อาหารบำบัดโรคหัวใจ 27 / พ.ย. / 2566